Audience Insight บน Google Analytics ข้อมูลกลุ่มเป้าหมายสำคัญสำหรับคนทำเว็บ

ประมาณ 90% ของคนทำเว็บไซต์ในประเทศไทย จะใช้ Google Tools ตัวหนึ่งที่จะช่วยในการดู และวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ เมื่อมีคน หรือลูกค้าเข้ามาที่เว็บของเรา นั่นก็คือ Google Analytics แต่หลายคนกลับใช้เครื่องมือนี้ในการวิเคราะห์แค่ว่า มีจำนวนเข้ามากี่คนต่อเดือน เข้ามาที่หน้าไหนเยอะที่สุด ซึ่งถามว่าข้อมูลเหล่านี้ควรรู้ไหม คำตอบคือ “ใช่” แต่ความจริงเครื่องมือตัวนี้สามารถเก็บข้อมูลเชิงลึกได้มากกว่านั้น อย่างเช่น Audience Report หรือถ้าแปลเป็นภาษาไทยคือ ข้อมูลคนที่เข้าเว็บไซต์ของเราแบบ 6W1H เลยทีเดียว เช่น เข้ามาทำไม เข้ามาจากไหน สนใจเรื่องอะไร แบบนี้เป็นต้น

Google รู้ข้อมูลของเราได้อย่างไร

สำหรับคนใช้เว็บอาจจะเคยได้ยินคำว่า “การเก็บ Cookies” กันมาบ้าง Cookies (คุ๊กกี้) คือ ข้อมูลขนาดเล็กที่จะเข้ามาทำการเก็บข้อมูลของเราจากการเยี่ยมชมเว็บไซต์ในครั้งแรก การจดจำข้อมูลการเข้าใช้งานซ้ำ ในกรณีที่เรากลับมาเข้าเว็บไซต์นี้อีกครั้ง และรวมไปถึงข้อมูลที่เราเคยกรอกไว้ การตั้งค่า การดาวน์โหลด และอื่นๆ ซึ่ง​ Google Analytics ก็จะเข้าไปทำการเก็บข้อมูลต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนเว็บไซต์ของเราในรูปแบบรีพอร์ตนั่นเอง

ซึ่งเมื่อก่อน ในเกือบทุกๆ เว็บไซต์มีการเก็บ Cookies อยู่แล้วละ แอบเก็บแบบเงียบๆ มาโดยตลอด แต่ในช่วงปี 2562 ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ Data Privacy หรือ กฎหมายข้อมูลส่วนบุคคล เริ่มเป็นจริงเป็นจังขึ้น เราจะเห็นหลายๆ เว็บทำ Consent เพื่อขออนุญาต และให้เรายินยอมในการเก็บข้อมูลส่วนบุคคคด้วย

Audience Insight ดูได้จากตรงไหน

เมื่อเราทำการติดตั้ง Google Analytics บนเว็บไซต์แล้ว ให้เข้าไปดูได้ที่ REPORTS > AUDIENCE ได้ทันที

Audience Insight Google Analytics

แล้ว Dimension บน Audience ตัวไหนบ้างที่ควรให้ความสำคัญ

Demographics

เราสามารถรู้ได้ว่า คนที่เข้ามาที่เว็บไซต์ของเราเป็นเพศอะไร และอายุเท่าไหรได้โดยแบ่งเป็น 2 ข้อมูลหลัก ๆ อย่าง

Demographics google analytics

Age
เก็บข้อมูลของผู้เข้าเว็บไซต์ว่ามีอายุเท่าไหรโดยจะแบ่งเป็น 6 ช่วงอายุ ได้แก่ 18-24, 25-34, 35-44, 45-54, 55-64 และ 65+ ถ้าอยากจะดูแบบลงลึกไปอีก เช่น ถ้าช่วงอายุนี้ อยู่อาศัยอยู่ในเมืองไหนบ้าง ให้เลือก Secondary Dimension > City เพื่อนำข้อมูลมาประกอบกัน

Gender
เป็นการเก็บข้อมูลว่าคนที่เข้าเว็บไซต์เราเป็นเพศใด โดยแบ่งเป็น Male และ Female และเช่นเดียวกันกับ Age ถ้าอยากจะดูแบบลงลึกไปอีก เช่น ถ้าเป็นเพศหญิง มาจากช่องทาใด ให้เลือก Secondary Dimension > Default Channel Grouping เพื่อนำข้อมูลมาประกอบกัน

ทั้ง 2 ข้อมูลใน Demographics จะสามารถบอกเราได้ทันทีว่าคนที่สนใจเข้ามาดู และซื้อสินค้าเป็นเพศใด และอายุเท่าไหร ตรงตามกับที่เราวิเคราะห์ไว้หรือไม่ได้ ตัวอย่างเช่น เว็บไซต์ขายสินค้า A ตั้ง Persona ไว้ว่า คนที่ซื้อจะต้องเป็นผู้หญิง อายุ 25-30 ปี เมื่อมีการทำโปรโมชั่น หรือทำการตลาดออกไป และเริ่มมีคนเข้ามาในเว็บไซต์ เราก็จะได้รู้ว่าแท้จริงแล้วคนที่เข้ามาค้นหาสินค้าของเรา เป็นเพศ และอายุเท่าไหรกันแน่

Interests

สำหรับ Interests หรือความสนใจ เป็นข้อมูลที่บอกเราว่าคนเข้าเว็บไซต์เรา เขากำลังสนใจเรื่องอะไรอยู่ โดยจะแบ่งเป็น 2 หมวดหมู่หลัก ๆ ได้แก่

Interests Google Analytics

In-Market Segments
เรื่องบางเรื่องอาจจะเป็นแค่เป็นกระแส หรือค้นหาข้อมูลผ่าน google แค่ช่วงระยะเวลาช่วงสั้นๆ เมื่อกูเกิ้ลทำการสังเกตพฤติกรรม ก็จะจัดกลุ่มความสนใจให้ user ไปอยู่ใน In-Market Segments โดยแยกตามหมวดหมู่ต่างๆ อธิบายอาจจะยังไม่เห็นภาพ ลองดูตัวอย่างด้านล่าง

ตัวอย่าง นางสาว B เป็นผู้ไม่เคยสนใจที่จะซื้อบ้านเป็นของตัวเองเลย จนกระทั่งเจอโปรโมชั่นจัดหนักจัดเต็มจากโครงการหนึ่ง จึงตามหาอ่านรีวิวจากเว็บต่างๆ จนได้บ้านในฝัน เพราะฉะนั้นกูเกิ้ลจะจัดความสนใจของนางสาว B อยู่ใน In-Market Segments > Real Estate/Residential Properties เพราะมีความสนใจ และค้นหาข้อมูลในเรื่องบ้านแค่ช่วงระยะสั้นๆ เท่านั้น

Affinity Categories
Google จะสังเกตพฤติกรรม และจัดเก็บข้อมูลความสนใจของแต่ละ user ในระยะยาวกว่า In-Market Segments โดยจะวิเคราะห์จากการเข้าใช้งาน ประวัติการค้นหาข้อมูล และให้ความสนใจเรื่องนี้อย่างเป็นประจำ และนานกว่า

ให้ลองนึกภาพตามว่า มีคุณเป็นสาวก Apple และในทุกวันจะต้องเข้าไปเสพข่าวไม่ว่าจะเป็นการอัปเดตแอป หรืออุปกรณ์เสริม เมื่อ google ทำการเก็บข้อมูลความสนใจ ตัวคุณอาจจะถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่ Affinity Categories > Technology/Mobile Enthusiasts

แต่ในขณะเดียวกัน Affinity Categories ก็อาจจะมีความคลาดเคลื่อน หรือภาษาที่การตลาดใช้กันคือ ความสนใจแบบไม่ได้ตั้งใจ นั้นหมายถึง การที่เราเข้าใช้งาน หรือมีประวัติการค้นหาข้อมูลเรื่องนี้เป็นประจำ แต่ความจริงแล้วเราไม่ได้สนใจเรื่องนี้ขนาดนั้น แต่ด้วยภาระหน้าที่ที่ต้องเข้า ทำให้ถูกจัดเข้าหมวดหมู่นี้ไปโดยปริยาย ตัวอย่างเช่น เราทำงานบริษัทประกันภัยที่มีการขายบนออนไลน์ ทำให้เราต้องเข้าที่หน้าเว็บตัวเอง และส่องเว็บคู่แข่งอยู่เป็นประจำ และทุกๆ วัน ก็อาจจะทำให้กูเกิ้ลจัดเราอยู่ใน Affinity Categories ได้เช่นกัน

โดยข้อดีของทั้ง Affinity Categories และ In-Market Segments จะช่วยให้เรารู้ และวิเคราะห์ได้ว่า คนที่เข้าเว็บไซต์ เขากำลังมีความสนใจในด้านไหน และตรงกับสิ่งที่เรากำลังทำอยู่หรือเปล่านั้นเอง รวมถึงช่วย Interests Grouping ในการทำโฆษณาในรูปแบบ Remarketing ได้

Behavior

เป็นการจับ และเรียนรู้พฤติกรรมการเข้าเว็บไซต์ของแต่ละ user เช่น New vs . Returning Visitor เปรียบเทียบข้อมูลว่ามี visitors จำนวนเท่าไหรที่เป็นเข้ามาใหม่ และเข้ามาซ้ำ / Frequency & Recency เข้าเว็บไซต์เรามาบ่อยแค่ไหน / Engagement ถ้าให้นิยามค่านี้เป็นคำพูดง่าย ๆ ก็หมายถึง คนที่เข้ามาแล้วใช้เวลาอยู่บนเว็บไซต์เรานานแค่ไหน

นอกจากนี้ยังมีอีกหลาย dimension บน Audience ให้เลือกวิเคราะห์อย่างเช่น

  • Geo เก็บข้อมูลผู้เข้าเว็บไซต์ว่าอยู่ ณ สถานที่ (Location) และใช้ภาษาอะไร (Language)
  • Technology เก็บข้อมูลผู้เข้าเว็บไซต์ว่าใช้ Browser, OS และ Network
  • Mobile เก็บข้อมูลผู้เข้าเว็บไซต์ว่าใช้ Device อะไร
  • User Flow ลำดับการเข้าหน้าเว็บไซต์ตั้งแต่หน้าแรก และหลุด (Drop-off) ออกไปจากไหน

Enjoy Analytics!

บทความที่คล้ายกัน:
Avg. Page Load Time คืออะไร? พร้อมวิธีทำ Custom Reports บน Google Analytics